ช่วงนี้ลุ้นมากครับ ยิ่งกว่าลุ้นหวย ก็ลุ้นน้ำท่วมนี่แหละ จะมาไม่มา ยิ่งถ้าอยู่ใต้เขื่อนก็จะลุ้น ว่าเขื่อนจะปล่อยน้ำเพิ่มมาอีกไหม ไหนจะน้ำฝน น้ำล้นตลิ่ง น้ำรอระบาย ไม่รู้น้องน้ำจะระบายไปทางไหนดีแล้วละครับ
ตอนนี้หลายพื้นที่ก็โดนกันไม่ใช่น้อย เรามาลองใช้เทคโนโลยี และข้อมูลดาวเทียมดูกันครับ ว่าแต่ละพื้นที่มีสถานการณ์ยังไงกันบ้าง
จากข้อมูลกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2565 น้ำในเขื่อนภาคเหนือ กลาง อีสาน ส่วนมากก็เต็มเกินจำนวนความจุ ที่กักเก็บได้สูงสุดกันเยอะเลย (ภาพที่ 1, 2)
แต่เขื่อนก็ยังไม่สามารถปล่อยน้ำออกไปได้มาก เพราะพื้นที่ใต้เขื่อนก็ประสบภัยน้ำท่วมกันอยู่นะครับ
ทีนี้เรามาลองดูตัวอย่างภาพจากการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลดาวเทียมกันดีกว่าครับ ครั้งนี้ เราใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-1 จากการวิเคราะห์ พื้นที่น้ำท่วม ตามเส้นทางแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน จากภาคเหนือสู่ภาคกลาง ของวันที่ 3 ตุลาคม 2565 (ภาพที่ 3) จะเห็นได้ว่าท่วมกันเป็นบริเวณกว้างจริงๆ ยิ่งทางเส้นแม่น้ำทั้งสองสาย ไหลมารวมกันที่นครสวรรค์ หรือปากน้ำโพ โดยมีบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่รับน้ำ (ภาพที่ 4) ซึ่งบึงบอระเพ็ดก็รับจนท่วมเอ่อออกมากินบริเวณกว้างมากๆ เลยครับ
ทางภาคอีสาน มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ จะมีแม่น้ำชี (ภาพที่ 5) ซึ่งก็ท่วมล้นตลิ่งออกมาเหมือนกัน และเส้นทางของแม่น้ำชี ก็ไหลลงมาที่ชัยภูมิ (ภาพที่ 6)
ส่วนทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งรับน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ตอนนี้ปริมาณความจุที่รับได้ไปถึง 114% แล้วนะครับ (ภาพที่ 7) และยังมีมวลน้ำที่ล้นตลิ่งของแม่น้ำป่าสัก เพื่อรอระบายกันอีกเยอะเลย ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้คาดการณ์ว่า วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสัก จะอยู่ที่ 1,000 ล้านลบ.ม. ซึ่งเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด ที่ปริมาณ 960 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ก็ทยอยปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 แล้วล่ะครับ
เมื่อเขื่อนป่าสักระบายน้ำ มวลน้ำก็จะไหลมาทางแม่น้ำป่าสัก และไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดอยุธยานะครับ ซึ่งปัจจุบัน อยุธยา สุพรรณบุรี (ภาพที่ 8 ) ก็ท่วมอ่วมเหมือนกันครับ โดยเฉพาะอยุธยา (ภาพที่ 9) แหม สมกับที่เป็น อู่ข้าว “อู่น้ำ” ของไทยเราจริงๆ เลยนะครับ แต่อู่แบบนี้ก็ไม่ไหวนะ น้องน้ำอย่าจอดนานเลยครับ รีบๆ ไปเถอะ
แต่ยังไงก็ไม่ใช่เราประเทศเดียวนะครับ ที่โดนน้องน้ำเล่นงาน เพื่อนบ้านเราอย่าง ประเทศกัมพูชาก็ไม่น้อยหน้า โดนเข้าไปเยอะเหมือนกันครับ อย่างเช่น Srok Preah Netr Preah หรือเมือง เปรียะเนตรเปรียะ (คนไทยเรียก พระเนตรพระ) ที่อยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนเจย ติดกับจังหวัดสระแก้วของเรา ก็โดยไปเยอะเหมือนกัน
อย่างว่าครับ ปีนี้เป็นปีแห่ง ลานีญา (La Nina) ประเทศแถบเรา รวมถึงออสเตรเลีย ก็จะเจอกับฝนตกหนักมากกว่าปกติ ลากยาวไปถึงปลายปี และในทางกลับกันก็เกิดภาวะแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ด้วย ซึ่งการที่มันแปรปรวนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดจาก Climate Change นั่นแหละครับ
การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจัง ทำให้คนเราตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับต้นๆ แล้วนะครับ อยากให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน และนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ สังเกตการณ์ แจ้งเตือน ก็จะช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นได้ครับ
ที่มาภาพและข้อมูล
[1] คลังข้อมูลน้ำและสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ, www.thaiwater.net, 11 ตุลาคม 2565
[2] ข่าวไทยบีพีเอส www.thaipbs.or.th, 8 ตุลาคม 2565