เอลนีโญ คืออะไร เกษตรกรชาวไทยจะรับมือกับฤดูเพาะปลูกเช่นนี้ได้หรือไม่

Last updated: 15 มิ.ย. 2566  |  2098 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เอลนีโญ คืออะไร เกษตรกรชาวไทยจะรับมือกับฤดูเพาะปลูกเช่นนี้ได้หรือไม่

ทุกคนครับ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน อย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่ วันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ช้ากว่าปีที่แล้ว ที่ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 2565
ก็อย่างที่คาดการณ์กันแหละครับ ว่าปีนี้เป็นปีแห่ง เอลนีโญ (El Nino) แถมเป็น เอลนีโญ แบบสุดขั้ว หลังจากที่เราชุ่มช่ำกับ ลานีญ่า (La Nina) มา 3 ปีเต็ม
ว่าแต่ตามโมเดลคาดการณ์ที่บอกว่าเป็นปีแห่ง เอลนีโญ (El Nino) แล้วเอลนีโญ มันคืออะไร ใครจะแล้ง จะท่วมบ้าง มาดูกันครับ

ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ลานีญ่า ถ้าพูดให้เข้าใจกันแบบง่ายๆ
เอลนีโญ ก็คือกระแสลม (Trade winds) ที่พัดผิดปกติ โดยเปลี่ยนเป็นพัดจากฝั่งเอเชียบ้านเรา ไปยังอเมริกาใต้ ทำให้ฝนไปตกที่แถบอเมริกาใต้มาก ส่วนฝั่งเอเชียบ้านเราก็จะฝนน้อย แห้งแล้ง ร้อนขึ้น หน้าหนาวก็หนาวไม่มาก และหนาวช่วงสั้นๆ (ภาพที่ 1)


ถ้าเป็น ลานีญา ก็จะกลับด้านกัน โดยที่กระแสลม (Trade winds) ก็จะพัดจากฝั่งอเมริกาใต้ มาฝั่งเอเชีย แต่จะพัดแบบรุนแรงขึ้นกว่าปกติ ทำให้ฝนมาตกในฝั่งแถบเอเชียมากขึ้น เกิดพายุหลายๆ ลูกติดต่อกัน หน้าหนาวก็จะหนาวกว่าปกติ และหนาวนานน
แล้วถ้าเป็นปีปกติ ไม่เป็นทั้ง เอลนีโญ ลานีญา ได้ไหม? ก็ได้ครับ ซึ่งกระแสลม (Trade winds) ก็จะพัดจากฝั่งอเมริกา ไปฝั่งเอเชีย เหมือนแบบ ลานีญา นี่แหละครับ แต่จะพัดแบบปกติ ไม่ได้รุนแรง หน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาวก็จะปกติเหมือนในอดีตที่ผ่านๆ มาครับ
ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก เอลนีโญ ก็ไม่ใช่ทุกประเทศทั่วโลกหรอกครับ คนที่กระทบก็จะเป็นกลุ่มประเทศ ในโซนมหาสมุทรแปซิฟิกนี่แหละ ดูข้อมูลจาก FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations (ภาพที่ 2) ก็จะเห็นได้ว่ามีบางประเทศที่เกิด ภัยแล้ง เช่น ประเทศไทย และบางประเทศเกิดน้ำท่วม ซึ่งเราก็กำลังก้าวเข้าสู่ เอลนีโญ แบบเต็มตัวก็เดือนนี้ (มิถุนายน 2566) นี่แหละครับ



แล้วมันจะแล้งรุนแรงขนาดไหน เราดูได้จากการ ENSO Forecast จากสถาบัน National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกราฟจะแสดงความน่าจะเป็นในช่วงทุกๆ 3 เดือน และคาดการณ์ออกมาเป็น % ความน่าจะเป็นของสถานการณ์นั้นๆ เช่น แท่งกราฟสีแดง แสดง % ความน่าจะเป็นของเอลนีโญ (El Nino Forecast Probability) สีน้ำเงิน แสดง % ของลานีญา (La Nina Forecast Probability), และแท่งสีเทาแสดง % ความน่าจะเป็นของสถานการณ์ปกติ (Neutral Forecast Probability) คือปริมาณน้ำฝนไม่มากหรือน้อยไปกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ของช่วงเวลานั้น


ซึ่งการคาดการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา (ภาพที่ 3) เห็นไหมครับว่า เป็นปีแห่ง เอลนีโญ จริงๆ กราฟแท่งสีแดงสูงนำโด่งเลย ซึ่งก็จะแล้งมากนะครับ และ NOAA ก็คาดการณ์ว่า น้ำฝนจะน้อยกว่าปีปกติอยู่ประมาณ 10% แล้วมันจะขนาดไหนกัน เราก็ลองย้อยไปดูข้อมูลปี 2019/ 2562 (ภาพที่ 4) ลักษณะกราฟจะคล้ายๆ ของปีนี้เลยใช่ไหมครับ ก็นั่นแหละครับ ปี 62 ก็เป็นปี เอลนีโญ และประเทศไทยเราก็แล้งจริงๆ แม่น้ำแห้งเหือด ปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่ไม่ถึง 10% การเกษตรเสียหายหนักมาก



อีกตัวอย่าง ที่นำข้อมูลมาให้ลองดูว่าถ้าเป็นปี ลานีญ่า หน้าตาของกราฟจะเป็นยังไง (ภาพที่ 5) ของปีที่แล้ว 2022 จะเห็นกราฟแท่งสีน้ำเงินสูงกว่าแท่นอื่นๆ ซึ่งปีที่แล้ว ทุกคนก็จะ


เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า มีฝนมากกว่าปกติ น้ำท่วมไปหลายพื้นที่ ก็ลุ้นๆว่าจะท่วมหนักเหมือนปี 54 ไหม เพราะลักษณะกราฟเหมือนกันเลย
ว่าแต่ปีนี้ มันจะแล้งและเสียหายหนักขนาดไหน เราก็ลองมาย้อนดูข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปีนี้ ก็คือปี 2562 กันครับ
เมื่อปี 62 ถ้ายังจำกันได้ ไทยเราประสบภัยแล้งอย่างหนัก ฝนตกน้อย และฝนทิ้งช่วงนานอยู่ 2 เดือน (มิ.ย.-ก.ค.) น้ำในเขื่อนมากกว่า 10 แห่ง มีปริมาณน้อยเข้าขั้นวิกฤต ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้การได้จริง 0% เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 62 (น้ำใช้การได้จริง คนละส่วนกับน้ำก้นเขื่อน ที่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้นะครับ) และกว่าฝนจะตกก็ย่างเข้าเดือน ส.ค. แล้ว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินความเสียหายช่วง พ.ค.-ก.ค. 62 ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ว่ามีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท เลยละครับ
ซึ่งเหตุการณ์นี้ มันก็จะโยงใยมาปีถัดไป (2563) ด้วย เพราะเมื่อถึงฤดูฝน (ปี 62) มีฝนตกน้อยมาก พอฤดูแล้งถัดมา (ปี 63) น้ำที่กักเก็บเอาไว้ได้ หรือ “น้ำต้นทุน” ก็จะมีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง ข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำสะสมอยู่แค่ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำจริงๆ ถึง 2-3 เท่า สัญญาณความขาดแคลนน้ำจึงปรากฏให้เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปี 62 ต่อเนื่องมาปี 63 (ภาพที่ 6)

แล้วการเกษตรละครับ เสียหายไปขนาดไหน
เราลองย้อนดู เอาเฉพาะพืชหลักของประเทศไทย คือ ข้าวนาปี ที่จะเริ่มเพาะปลูกช่วงฤดูฝนกันครับ


จากข้อมูลของสมาคมประกันวินาศภัยไทย (ภาพที่ 7,8) ปี 62 พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี 61 ล้านไร่ เข้าโครงการประกันภัยข้าวนาปี ไป 30.8 ล้านไร่ รัฐบาลใช้เงินเพื่อจ่ายเบี้ยประกัน 2,167 ล้านบาท แต่เกิดภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้สมาคมประกันวินาศภัยไทย ต้องจ่ายสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรถึง 4,832 ล้านบาท (ภาพที่ 7) (ก็ขาดทุนถัวๆ กับปีที่ไม่ค่อยเคลมนะครับ) ซึ่งในปีนั้น เกษตรกรที่ทำประกัน แล้วเกิดภัยธรรมชาติ ก็ได้รับเงินสินไหมทดแทน 2,373 บาทต่อไร่ (ได้จากรัฐบาล 1,113 บาท + สมาคมประกันฯ 1,260 บาท) ซึ่งก็พอจะช่วยเหลือเกษตรกรได้บ้างนะครับ เพราะต้นทุนการเพาะปลูกข้าว จากการศึกษาข้อมูลจะอยู่ที่ประมาณ 3,300 บาทต่อไร่
ส่วนใครที่ไม่ได้ขึ้นทะเทียนประกัน ก็ยังมีโครงการอื่นๆ ช่วยเหลือ เช่น กระทรวงการคลัง อนุมัติโครงการสนับสนุนจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นค่าต้นทุนเพาะปลูกข้าว 2 ล้านราย ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อคน แก่ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.3 ล้านราย วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท


ว่าแต่ ปี เอลนีโญ 2566 นี้ละครับ ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่พอดี แต่กว่าจะเจรจาตกลงกันได้ ตามการคาดการณ์ (BBC Thai) การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรได้ อย่างเร็วที่สุดก็น่าจะเดือน ส.ค.- ก.ย. แต่กว่าจะถึงวันนั้น เกษตรกรจะแห้งกรอบตายกันก่อนไหมครับ เพราะโครงการประกันภัยข้าวนาปี (ครอบคลุมภัยธรรมชาติ) ของปีนี้ ณ วันนี้ก็ยังไม่มีนะครับ (โครงการนี้มีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554) เพราะเรื่องผ่านไปถึงคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เห็นชอบโครงการ แต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ยุบสภาไป ก่อนที่สำนักงบประมาณจะส่งเรื่องเข้า ครม. และภัยฝนทิ้งช่วง ก็จะเกิดช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. แล้วด้วยสิครับ
และในระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ ก็ไม่สามารถอนุมัติงานหรือโครงการที่มีผลผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. เสียก่อน
แล้วเราจะทำยังไงกันดีครับ ก็คงได้แต่ภาวนา และรอดูว่าเมื่อไหร่จะตกลงกันได้ และยอมอนุมัติโครงการ หรือสร้างระบบ/ เทคโนโลยี/ นวัตกรรม ในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ที่จะมารองรับภัยแล้งแบบรุนแรงของปีนี้ และปีถัดไป เพื่อที่จะได้ต่อลมหายใจ ให้พี่น้องเกษตรกรบ้านเรา ไม่ล้มหายตายจากกันไปหมดก่อนนะครับ


ที่มาข้อมูล:
[1] FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations, GIEWS Update, 26 April 2023
[2] National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA), IRI ENSO Forecast, May, 2023
[3] Columbia Climate School International Research Institute for Climate and Society: IRI ENSO Forecast (https://iri.columbia.edu)
[4] ข่าวสารกิจกรรม, สมาคมประกันวินาศภัยไทย, เผยผลการรับประกันภัยข้าวนาปี รวม 11 ปี จ่ายเคลมให้เกษตรกรแล้ว 12,911 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนประกันภัยพืชผล ก้าวสู่ปีที่ 12, พ.ค. 2565
[5] การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ (ข้าวนาปี), กลุ่มเศรษฐกิจที่ดินทางการเกษตร กองนโยบายและแผนการใช้ที่ดิน , 2564
[6] เตรียมจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม-ภัยแล้งไร่ละ 500 บาท, ไลน์ Today ไอที ธุรกิจ, 17 ก.ย. 62
[7] รายงานสถานการณ์น้ำประเทศไทย ปี 2565 : เขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ, Thaiwater.net, 2565
[8] วิกฤตภัยแล้ง 2563 ทำไมถึงแล้งเร็ว รุนแรง และแล้งนาน, Workpointtoday.com, 7 ม.ค. 2563
[9] คณะรัฐมนตรีรักษาการ ทำอะไรได้บ้าง และอยู่ยาวถึงเมื่อไหร่, Thairath Online, พ.ค. 2566
[10] ประกันภัยนาข้าวปี 2566 สะดุด เกษตรกรเคว้งตั้งรัฐบาลใหม่อนุมัติไม่ทัน, ประชาชาติธุรกิจ, 13 พ.ค. 2566

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้