ย้อนรอยสถิติแผ่นดินไหวในประเทศไทย

Last updated: 15 มี.ค. 2566  |  961 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ย้อนรอยสถิติแผ่นดินไหวในประเทศไทย

   ภัยพิบัติแผ่นดินไหวไม่ใช่เรื่องไกลตัว แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถทำนายการเกิดล่วงหน้าได้ สิ่งที่ทำได้คือการบอกว่าบริเวณไหนมีความเสี่ยง

      เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่เคยตรวจวัดและบันทึกได้ในประเทศไทย คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ในปี พ.ศ. 2557 จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในบริเวณ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เกิดจากการเลื่อนตัวในแนวระดับแบบเหลื่อมซ้ายของแนวรอยเลื่อนแม่ลาว เกิดแรงสั่นสะเทือนครอบคลุม 7 จังหวัดทางตอนเหนือของประเทศไทย

    จากสถิติพบว่า ในภาคเหนือนั้นเกิดแผ่นดินไหวบ่อยที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ตามมาด้วยเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน พะเยา ตามลำดับ
 
   จากข้อมูลบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในอดีต พบว่าในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ประมาณปี พ.ศ. 2450 - 2555 มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 7.0-9.1 เกิดขึ้นในบริเวณแนวมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน ไม่น้อยกว่า 54 เหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก รองจากแผ่นดินไหวขนาด 9.6 ที่ประเทศชิลี ในปี พ.ศ. 2503 และแผ่นดินไหวขนาด 9.2 ที่รัฐอะแลสกา ในปี พ.ศ. 2507
   
   เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.1 ในปี พ.ศ. 2547 นอกชายฝั่งทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนิเซีย เกิดจากการชนกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลีย และแผ่นยูเรเชีย ส่งผลให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ซัดเข้าถล่มชายฝั่งอันดามันของประเทศไทย เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะ บริเวณแนวชายฝั่งรอบมหาสมุทรอินเดีย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มากถึง 230,000 คน

รู้เช่นนี้แล้ว เราจะสามารถคาดการณ์เพื่อรับมือเหตุแผ่นดินไหวได้อย่างไร ?
   
   ภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ ทั้งเรื่องตำแหน่ง ขนาด และเวลาเกิด ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือตรวจวัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของบริเวณแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพยากรณ์แผ่นดินไหว โดยอาศัยทั้งที่เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับคุณลักษณะทางกายภาพของเปลือกโลก ที่เปลี่ยนแปลงจากปกติก่อนเกิดแผ่นดินไหว เช่น
  • แรงเครียดในเปลือกโลกเพิ่มขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงสนามไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง
  • การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก
  • น้ำใต้ดิน (ชาวจีน สังเกต การเปลี่ยนแปลง ของน้ำในบ่อน้ำ 5 ประการ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
  • ได้แก่ น้ำขุ่นขึ้น มีการหมุนวนของน้ำ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลง มีฟองอากาศ และรสขม)
  • ปริมาณก๊าซเรดอน เพิ่มขึ้น
  • การส่งคลื่นวิทยุความยาวคลื่น สูง ๆ
นอกจากนี้ เรายังสามารถการสังเกตพฤติกรรมของสัตว์หลายชนิดที่มีการรับรู้ถึงภัยก่อนเกิดแผ่นดินไหวได้อีกด้วย เช่น 
  • แมลงสาบจำนวนมากวิ่งเพ่นพ่าน
  • สุนัข เป็ด ไก่ หมู หมี ตื่นตกใจ
  • หนู งู วิ่งออกมาจากรู
  • ปลา กระโดดขึ้นจากผิวน้ำ ฯลฯ

   การพยากรณ์แผ่นดินไหวในภาวะปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อการคาดหมายที่แม่นยำและแน่นอนขึ้น อย่างไรก็ตามมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหว เช่น การก่อสร้างอาคารให้มีความมั่นคงแข็งแรงในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงการเตรียมพร้อมที่ดีของประชาชน จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดการสูญเสียจากแผ่นดินไหวได้ครับ

ที่มาข้อมูลภาพ:กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
อ้างอิงข้อมูล: เอกสารวิชาการการวิเคราะห์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียง เดือน มกราคม - มิถุนายน 2564 กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้