เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ กับ Earth Insights

Last updated: 9 มิ.ย. 2566  |  1281 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ กับ Earth Insights

ทุเรียน ผลไม้ไทย รสชาติหวานมัน ถูกใจทั้งชาวไทย และต่างชาติ นำโด่งเป็นพืชเศรษฐกิจมาแรง แซงขึ้นเป็นอันดับ 1 ด้านการส่งออกไปแล้วครับ ยอดฮิตขนาดนี้คนก็นิยมปลูกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศไทยอยู่ที่ ประมาณ 1,199,895 ไร่ แล้วล่ะครับ
แต่ปลูกนางก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แหม ก็นางเอาใจยาก ต้องประคบประหงมกันแทบจะตลอดเวลา ฝนเยอะไปก็ไม่ชอบ ร้อนไป แล้งไป อัดปุ๋ยมากไป ดินเป็นกรด ไม่ได้ยกโคก สารพัดเงื่อนไขที่คุณเธอจะใจเสาะ และจากเราไปก่อนวัยอันสมควรเลยครับ


แล้วถ้าเรานำเอาเทคโนโลยีมาช่วยดูแลล่ะ ทั้งโดรน ดาวเทียม AI การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และประมวลผลเป็นคำแนะนำว่าเราควรจะดูแลใส่ใจ ตรงไหนยังไงดี เพื่อให้คุณเธอพอใจ ออกดอก ออกผล ให้เรามีรายได้เป็นกอบเป็นกำ สร้างชื่อเสียงให้ทั่วโลกรู้ไปเลยครับ ว่าเมืองไทยเรามีของเด็ดแค่ไหน


เรามาดูตัวอย่างกันครับ ครั้งนี้เราใช้โดรนสำรวจ ติดกล้อง Multi-spectral ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม ที่สวนทุเรียน ต.แสลง อ.เมือง จ.จันทบุรี และใช้ระบบวิเคราะห์และแปลผลครับ
(1) ถ้าเรามีแปลงขนาดใหญ่ เราสามารถนำภาพจากโดรน และใช้ AI มานับจำนวนต้นทุเรียน และคำนวณพื้นที่เพาะปลูก (ภาพที่ 1) ได้ครับ


(2) วิเคราะห์ความสมบูรณ์ของต้นทุเรียนด้วยดัชนีความแตกต่างพืชพรรณ (NDVI) (ภาพที่ 2) NDVI จะมีค่าตั้งแต่ -1 ถึง 1 โดยค่าที่ใกล้เคียง 1 หมายถึงพืชที่มีความสมบูรณ์มาก หรือมีความเขียวมาก ส่วนพืชที่ไม่สมบูรณ์ ค่า NDVI จะตกลง และค่า NDVI ที่ติดลบจะหมายถึงสิ่งที่ไม่ใช่พืช เช่น แหล่งน้ำ (ภาพที่ 3,4)

ซึ่งถ้าเราวัดจากขนาดของพุ่มจากด้านบน ของต้นทุเรียนที่อายุมากกว่า 10 ปี ร่วมกับการวิเคราะห์ด้วย NDVI ก็จะเห็นชัด (ภาพที่ 5) ถ้าต้นไหนที่สมบูรณ์ สีก็จะเขียว ค่า NDVI สูง และต้นไหนที่ไม่สมบูรณ์ ใบสีเหลือง ค่า NDVI ก็จะต่ำ (ภาพที่ 6)


(3) วิเคราะห์ความสูงต่ำของพื้นที่ ด้วยแบบจำลองความสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model: DEM) (ภาพที่ 7) ซึ่งตรงนี้เราสามารถนำมาปรับใช้กับการจัดการน้ำ เช่น ถ้าเป็นพื้นที่ต่ำกว่า และเป็นปีที่น้ำฝนมาก อย่างเช่น ปี 2565 ที่ผ่านมา ก็จะมีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลไปสะสมอยู่บริเวณนั้น เมื่อดินที่โดนน้ำท่วมขังนาน ก็มีโอกาสกลายเป็นกรดได้สูง เพราะขาดออกซิเจน ทำให้จุลินทรีย์ตัวที่ดีอยู่ไม่ได้ แต่เชื้อราที่เป็นอันตราย เช่น ไฟทอปธอร่า (Phytophthora) จะชอบเลย ซึ่งก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้ แต่ถ้าปีไหนที่น้ำฝนน้อย พื้นที่บริเวณที่อยู่ต่ำกว่า ก็จะสมบูรณ์กว่าที่สูงนะครับ


ดังนั้น ทั้งพื้นที่สูงและต่ำ ก็จะมีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกันไป ซึ่งถ้าเกษตรกรมีข้อมูลของแปลงตนเองเพียงพอ ก็จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดความเสี่ยงได้นะครับ


(4) วิเคราะห์ความชื้นในดิน จากดาวเทียม ซึ่งข้อมูลตรงนี้ เรานำมาใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เมื่อรู้ว่าตอนนี้แปลงของเรามีปริมาณความชื้น (น้ำ) ในดินอยู่สูง แม้ว่าฝนจะไม่ตกมาสักระยะ แต่เราก็ยังไม่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่มเข้าไปอีก ตัวอย่างจากภาพที่ 8 จะเห็นว่า ปัจจุบัน (6 มกราคม 2566) ความชื้นในดินของแปลงนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกัน ของหลายปีก่อนหน้า อยู่ถึง 50% ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่ง ลานิญา (La Nina) ปริมาณน้ำฝนมาก ความชื้นในดินก็สูงมาก ทำให้ดินเป็นกรด เกิดโรครากเน่าโคนเน่ากันเยอะเลยละครับ


(5) ค่าความเป็นกรดด่างในดินก็สำคัญ เพราะจะทำให้ประเมินได้ว่าเราควรจะดูแลรักษาตันทุเรียนยังไง เพราะถ้าดินเป็นกรดหรือด่างจัด รากทุเรียนก็จะไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ไปใช้ได้ ถ้าสังเกตดินกรดเบื้องต้น คือบริเวณนั้นต้นไม้มีการเจริญเติบโตช้าลง ให้ผลผลิตน้อย มีอาการเหี่ยวเหมือนขาดน้ำ
ซึ่งค่าความเป็นกรดด่าง สามารถตรวจสอบได้จากอุปกรณ์วัดค่า pH แต่ถ้าใครอยากจะรู้เบื้องต้น ก็สามารถดูข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินก็ได้นะครับ (ภาพที่ 9) ข้อมูลที่ได้นี้เป็นชุดข้อมูลของปี 2561 ซึ่งบอกว่าแปลงนี้เป็นดินที่มีสภาพเป็นกรดจัดมาก ถึงกรดปานกลาง
นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ยังจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียน ในแต่ละพื้นที่อีกด้วยนะครับ เช่น ภาพที่ 10 แผนที่เขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกทุเรียน จังหวัดจันทบุรี แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ไหนมีความเหมาะสม สูง ปานกลาง ต่ำ และ ไม่เหมาะสม โดยวิเคราะห์จากลักษณะดิน ปัจจัยความต้องการของพืชแต่ละชนิด และอื่นๆ
ซึ่งดูจากข้อมูลแล้ว (ภาพที่ 11) จังหวัดจันทบุรี ยังมีพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกทุเรียนอีกเยอะมากเลยนะครับ




ดังนั้นแล้ว การรณรงค์ให้ปลูกทุเรียน ควบคู่กับการให้ความรู้ และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น โดรน ดาวเทียม อุปกรณ์ IoT มาเพื่อช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายจากสภาพอากาศ และภัยธรรมชาติ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ เลยครับ เพราะกว่าเราจะปลูกและให้ผลผลิต ก็ต้องดูแล ประคบประหงมนาง อย่างน้อยก็ตั้ง 5-6 ปี และยิ่งทุเรียนอายุมาก ก็จะยิ่งเปลือกบาง อร่อย ถ้าตายไปสักต้นนี่ มูลค่าความเสียหายหลักแสน เลยล่ะครับ
แล้วยิ่งเราใช้เทคโนโลยี ควบคุมสภาพ ดิน น้ำ อากาศ โดยมีนักวิจัย หรือผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ เราก็อาจจะสามารถปลูกทุเรียนอร่อยๆ ได้ทั่วประเทศไทย แล้วที่นี้ล่ะ เราก็จะได้กินทุเรียนกันอย่างจุใจสักทีนะครับ


ที่มาข้อมูล:
[1] ข้อมูลชุดดิน กรมพัฒนาที่ดิน, 2561
[2] กรมพัฒนาที่ดิน จังหวัดจันทบุรี, 2565
[3] ระบบสารสนเทศการผลิตทางด้านการเกษตร, 2565


 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้