Last updated: 10 เม.ย 2566 | 1522 จำนวนผู้เข้าชม |
รู้สึกกันใช่ไหมครับว่าอากาศแปรปรวนขึ้นทุกวัน เดี๋ยวร้อน พายุ ฝน น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟป่า ก็เพราะว่าการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันเยอะ เกินกว่าที่ต้นไม้จะดูดซับได้ทันน่ะสิครับ
ค่าเฉลี่ยของทั่วโลก ปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ที่ 4.47 ตันคาร์บอนฯ ต่อคน ต่อปี
(ภาพที่ 1)
ส่วนของประเทศไทย ปล่อยคาร์บอนฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 3.836 ตันคาร์บอนฯ ต่อคน ต่อปี
(ภาพที่ 2)
กรุงเทพฯ เมืองที่เป็นอันดับ 1 จุดหมายปลายทาง ยอดนิยมระดับโลก ปี 2022 จากการจัดอันดับของอโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวระดับโลก เรามีพื้นที่สีเขียว ดูดซับคาร์บอนฯ ได้เท่าไหร่กัน แล้วอากาศดีๆ มีอยู่ที่เขตไหนบ้าง มาดูกันครับ
(ภาพที่ 3)
กรุงเทพฯ มีขนาดพื้นที่ 1,569 ตารางกิโลเมตร จากการวิเคราะห์โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม และโมเดลในปี 2021 ของทีม Earth Insights พบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 105.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 65,950 ไร่ คิดเป็น 6.73% ของพื้นที่ทั้งหมด มีประชากร (ตามทะเบียนบ้าน ไม่รวมประชากรแฝง) 5.51 ล้านคน และเขตที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด 10 อันดับแรก มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ ดังนี้ครับ
(ภาพที่ 4)
อันดับ 1. หนองจอก 651,553 ตันคาร์บอนฯ 2. ลาดกระบัง 384,188 ตันคาร์บอนฯ 3. คลองสามวา 352,444 ตันคาร์บอนฯ 4. บางขุนเทียน 351,383 ตันคาร์บอนฯ 5. มีนบุรี 197,690 ตันคาร์บอนฯ 6. ทวีวัฒนา 188,371 ตันคาร์บอนฯ 7. ประเวศ 150,040 ตันคาร์บอนฯ 8. บางแค 144,435 ตันคาร์บอนฯ 9. หนองแขม 120,954 ตันคาร์บอนฯ 10. ตลิ่งชัน 115,684 ตันคาร์บอนฯ
แล้วเขตที่อากาศดี ๆ ที่มีปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ ต่อคน สูงสุด ดังนี้ครับ
(ภาพที่ 5)
อันดับ 1 ก็คือเขตหนองจอก นี่แหละครับ อันดับ 2 เขตลาดกระบัง 3. บางขุนเทียน 4. ทวีวัฒนา 5. บางแค
เรามาลองดูตัวอย่าง ในบางพื้นที่กันครับ
(ภาพที่ 6)
เขตทวีวัฒนามีพื้นที่ 51.73 ตารางกิโลเมตร (32,332 ไร่) มีปริมาณการดูดซับคาร์บอน 188,371 ตันคาร์บอนฯ หรือ 3,641 ตันคาร์บอนฯ/ตร.กม. และมีความหนาแน่นของจำนวนประชากร (ตามทะเบียนบ้าน) อยู่ที่ 1,571 คน/ตร.กม.
ผังเมืองเขตนี้ เดิมเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม (ฟลัดเวย์) ก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย และมีคนอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ในบางพื้นที่ก็ยังมีต้นไม้ใหญ่ๆ อยู่เยอะเลยครับ จากการวิเคราะห์ เขตทวีวัฒนา มีค่าเฉลี่ยปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ อยู่ที่ 2.32 ตันต่อคนครับ
(ภาพที่ 7)
เขตบางขุนเทียน มีพื้นที่ 122.21 ตร.กม. (76,379 ไร่) มีปริมาณการดูดซับคาร์บอน 351,383 ตันคาร์บอนฯ หรือ 2,875 ตันคาร์บอนฯ/ตร.กม. ซึ่งเขตนี้ได้เปรียบ ตรงที่มีป่าโกงกางอยู่นะครับ ป่าโกงกางมีการดูดซับคาร์บอนสูงที่สุด ในบรรดาต้นไม้ทั้งหมด โดยป่าโกงกางโตเต็มที่ 1 ไร่ (ประมาณ 711 ต้น) จะดูดซับคาร์บอนได้ถึง 6.49 ตันคาร์บอนต่อปี
เขตบางขุนเทียน มีความหนาแน่นของจำนวนประชากร อยู่ที่ 1,533 คน/ตร.กม. จึงมีค่าเฉลี่ยปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ อยู่ที่ 1.88 ตันต่อคนครับ
(ภาพที่8)
เขตปทุมวันมีพื้นที่ 8.03 ตารางกิโลเมตร (5,020 ไร่) มีปริมาณการดูดซับคาร์บอน 21,741 ตันคาร์บอนฯ หรือ 2,707 ตันคาร์บอนฯ/ตร.กม. โดยเขตนี้มีสวนลุมพินี ที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 360 ไร่อยู่นะครับ แต่สวนนี้ต้นไม้จะไม่ได้หนาแน่มาก แถมยังมีสระน้ำกินบริเวณกว้าง จึงช่วยการดูดซับคาร์บอนฯ ได้ไม่มากเท่าไหร่นะครับ
เขตปทุมวันเป็นพื้นที่เมือง จึงมีความหนาแน่นของจำนวนประชากร ค่อนข้างแน่น อยู่ที่ 4,990 คน/ตร.กม. จึงมีค่าเฉลี่ยปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ อยู่ที่ 0.54 ตันต่อคน
(ภาพที่ 9)
เขตคลองเตย มีพื้นที่ 13.24 ตร.กม. (8,275 ไร่) มีปริมาณการดูดซับคาร์บอน 22,017 ตันคาร์บอนฯ หรือ 1,663 ตันคาร์บอนฯ/ตร.กม. มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากเลยครับ อยู่ที่ 7,052 คน/ตร.กม. และเขตนี้มีต้นไม้อยู่น้อยมากๆ จึงมีค่าเฉลี่ยปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ อยู่ที่ 0.24 ตันต่อคน ครับ
ดังนั้นเราก็จะเห็นว่าในบางพื้นที่นอกจากจำนวนประชากรจะหนาแน่นมากๆ แล้ว ยังมีปริมาณพื้นที่สีเขียวน้อยมากๆ ถ้ามีการปลูกต้นไม้ให้กระจายไปยังพื้นที่ว่างเปล่า หรือพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เราก็จะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ เฉลี่ยต่อประชากรเพิ่มขึ้นด้วยนะครับ
ทีนี้มาดูกันว่า การรณรงค์ปลูกต้นไม้ ตามนโยบายของท่านผู้ว่ากรุงเทพฯ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เราจะเลือกปลูกต้นไม้ชนิดไหนดี ใช้พื้นที่เท่าไหร่ และจะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนเท่าไหร่บ้าง ??
(ภาพที่ 10)
ถ้าเลือกปลูก พรรณไม้ปลูกในเมือง สามารถปลูกได้ 50 ต้น/ไร่ จะต้องใช้พื้นที่ปลูก 20,000 ไร่ ให้ครบ 1 ล้านต้น และเมื่อโตเต็มที่ จะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนอยู่ที่ 24,200 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี
(ภาพที่ 11)
แต่ถ้าเลือกปลูกกระถินเทพา ซื่งเป็นไม้โตเร็วมากในช่วงอายุ 10-13 ปี ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง และสามารถใช้เป็นไม้ใช้สอยในชุมชนได้ด้วย เมื่อโตเต็มที่มีความสูงถึง 20-25 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 178 ต้น ซึ่งถ้าจะปลูก 1 ล้านต้น จะใช้พื้นที่ 5,618 ไร่ และจะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนอยู่ที่ 28,090 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี
ถ้าเป็นพื้นที่ป่าชายเลน บางขุนเทียน เรารณรงค์ให้ปลูกป่าโกงกางก็ได้เหมือนกันนะครับ ต้นโกงกางมีขนาดไม่ใหญ่ 1 ไร่ จะปลูกได้ถึง 711 ต้นเลยครับ และถ้าปลูกให้ได้ 1 ล้านต้น จึงใช้พื้นที่แค่ 1,406 ไร่ เมื่อโตเต็มที่ ก็จะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ อยู่ที่ 9,128 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี
ดูเหมือนการปลูกป่าโกงกาง 1 ล้านต้น จะได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ น้อยกว่าปลูกกระถินเทพา ใช่ไหมครับ แล้วถ้าเราอยากได้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนฯ เท่ากับกระถินเทพา ที่ 28,090 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี เราก็ต้องปลูกป่าโกงกาง 3,077,335 ต้นกันไปเลย แต่ก็ยังใช้พื้นที่แค่ 4,328 ไร่ ซึ่งยังน้อยกว่าปลูกกระถินเทพาอีกนะครับ
แต่ยังไงก็ตาม จะปลูกไม้ป่า ไม้เมือง ไม้ดอก ไม้ผล หรืออะไรก็ได้ ขอให้ได้เริ่มปลูกกันเถอะครับ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำสักที ปล่อยคาร์บอนฯ กันคนละ 3-4 ตันคาร์บอนฯ ต่อปี ก็ช่วยกันปลูกต้นไม้ทดแทนกันนะครับ
ที่มาข้อมูล :
[1] สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, www.stat.bora.dopa.go.th, June 2022
[2] The world bank, CO2 emissions (metric tons per capita), www.data.worldbank.org, 2020
[3] The world bank, CO2 emissions (metric tons per capita) - Thailand, www.data.worldbank.org, 2020
[4] องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
[5] สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ กรมป่าไม้
9 มิ.ย. 2566
9 มิ.ย. 2566