Last updated: 16 มี.ค. 2566 | 1597 จำนวนผู้เข้าชม |
ยังจำกันได้ไหมครับ สมัยเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นประถมคุณครูจะสอนพวกเราว่า พายุนั้นเกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศ และการเคลื่อนตัวของอากาศ ก็เกิดขึ้นได้เพราะอุณหภูมิสองจุดไม่เท่ากัน อากาศร้อนจะลอยขึ้น ในขณะเดียวกัน อากาศเย็นก็จะไหลเข้าแทนที่
ถ้าสามารถเดินทางไปในอวกาศ และมองกลับมายังโลกของเรา เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของหมู่เมฆ การก่อตัวของพายุ และการเคลื่อนตัวของพายุ ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปทำการพยากรณ์อากาศได้ง่ายกว่าการเก็บข้อมูลจากการมองเห็นแค่บนพื้นโลกครับ
หากเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามนึงคือ จำเป็นไหมที่เราจะต้องส่งนักบินอวกาศขึ้นไปในอวกาศเพื่อเก็บข้อมูลมาทำการพยากรณ์อากาศหรือไม่ ? คำตอบคือเราไม่จำเป็นต้องส่งใครไปในอวกาศจริง ๆ หรอกครับ ก็เพราะเรามีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าดาวเทียม และหนึ่งในดาวเทียมที่ประเทศไทยนิยมใช้ตรวจสภาพอากาศจากอวกาศนั่นก็คือ ดาวเทียมที่ชื่อว่า ฮิมาวาริ-8 (Himawari-8) ซึ่งเจ้าดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมที่ทางประเทศญี่ปุ่นส่งขึ้นวงโคจรไปเมื่อปี 2014 และเป็นดาวเทียมที่อยู่ใน วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Orbit) แถมยังอยู่ในตำแหน่งที่มองลงมายังมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก นั่นจึงทำให้ดาวเทียมฮิมาวาริ-8 สามารถมองเห็นพายุได้ทั่วบริเวณทวีปเอเชียตะวันออก และทวีปออสเตรเลีย
ดาวเทียมฮิมาวาริ มีหน้าที่ถ่ายภาพทุก ๆ 2.5 นาที สำหรับประเทศญี่ปุ่น และทุก ๆ 10 นาที สำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือ โดยมีความละเอียดของภาพอยู่ที่ 0.5 - 2 กิโลเมตร และที่สำคัญคือ ประเทศญี่ปุ่นเค้าเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมให้ไปใช้กันฟรี ๆ ไม่คิดเงิน โดยเราสามารถเข้าไปดูภาพแบบ Real time ได้ที่ https://himawari8.nict.go.jp/
ดีขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะนิยมใช้ข้อมูลจากอวกาศ มาทำการพยากรณ์อากาศร่วมกับเซ็นเซอร์ภาคพื้นชนิดต่างๆ โดยปกติประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูพายุหมุนเขตร้อน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และยาวไปจนถึงเดือนตุลาคม ซึ่งการที่เราสามารถพยากรณ์ทิศทางและความรุนแรงของพายุได้นั้น ทำให้เราสามารถคาดการณ์ เตรียมตัว และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้
เห็นไหมครับว่าเทคโนโลยีอวกาศนั้นมีประโยชน์มากมาย เพียงแต่เราต้องใช้จินตนาการและรู้จักนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
9 มิ.ย. 2566
9 มิ.ย. 2566