ติดตามการเคลื่อนไหวในสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยเทคโนโลยีจากดาวเทียม

Last updated: 15 Mar 2023  |  854 Views  | 

ติดตามการเคลื่อนไหวในสงครามรัสเซีย-ยูเครนด้วยเทคโนโลยีจากดาวเทียม

   หลายท่านคงได้ติดตามข่าวสงครามยูเครน-รัสเซียกันนะครับ ซึ่งก็รอลุ้นกันว่าจะจบเมื่อไหร่ และฉากจบจะเป็นแบบไหน ใครยอมใครบ้าง



      ประเทศท่าน ๆ มหาอำนาจ ก็ถมยุทโธปกรณ์กันอย่างเต็มที่ ซึ่งเทคโนโลยีดาวเทียม ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลัก เพื่อใช้ในการเฝ้าติดตามวางแผน ตรวจสอบด้วยเช่นกัน เช่น เฝ้าติดตามการเคลื่อนกำลังพลของกองทัพ หรือใช้เพื่อประเมินความเสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียม

  วันนี้เรามาแนะนำ การติดตามจุดความร้อนบนผิวโลกด้วยดาวเทียมระบบ VIIRS (Visible Infrared Image Radiometer Suite) โดยการตรวจหาจุดความร้อน (hotspot) บนพื้นผิวโลกได้ทั่วโลก ซึ่งโดยปกติจะถูกนำมาใช้เพื่อติดตามตรวจสอบการเกิดไฟป่า หรือหาตำแหน่งของกิจกรรมที่เกิดความร้อนได้ นอกจากนั้นเรายังประยุกต์ใช้ เพื่อติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการสู้รบที่เกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ได้ด้วยครับ

     วันที่ 27กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.13น ที่ผ่านมา ดาวเทียม Suomi NPP แสดงจุดความร้อน ที่คาดว่าเกิดจากการโจมตีของรัสเซีย ณ สนามบิน Hostomel หรืออีกชื่อหนึ่งว่าสนามบิน Antonov ซึ่งที่นี่เป็นสนามบินคาร์โก้สำคัญของยูเครน เพราะที่นี่มีเครื่องบินลำเลียงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพียงลำเดียวของยูเครนอย่าง “Antonov An-255 Mriya” ซึ่งแปลว่า “ความฝัน” ปัจจุบันมีอายุกว่า 34 ปี ถูกจอดอยู่ในอาคารเก็บเครื่องบินแห่งนี้ ซึ่งผลกระทบจากสงครามส่งผลให้เครื่องบินได้รับความเสียหายอย่างหนัก และเกิดเพลิงไหม้จนมีควันร้อนพวยพุ่งออกมาเป็นจำนวนมาก

   ดาวเทียม Suomi NPP (The Suomi National Polar-orbiting Partnership ) เป็นดาวเทียมภารกิจตรวจสอบสภาพอากาศของ NOAA ประเทศสหรัฐอเมริกา และใช้ระบบ VIIRS (Visible Infrared Image Radiometer Suite) ที่ได้รับการพัฒนาจากระบบ MODIS (Moderate resolution Imaging Spectroradiometer) ให้สามารถติดตามการเกิดจุดความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่รอบข้างได้ดียิ่งขึ้น โดยดาวเทียมโคจรถ่ายภาพทั้งโลกใช้เวลา 12 ชม. ทำให้ตรวจจับความร้อนได้อย่าง Near-real time

   ดาวเทียมสามารถตรวจจุดความร้อนที่มีขนาดเล็ก 375 เมตรได้ ซึ่งทำให้ตรวจจับความร้อนได้ดีกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ MODIS เช่น ดาวเทียม Terra และ Aqua ที่มีตรวจจับจุดความร้อนใหญ่กว่าถึง 1,000 เมตร โดยทั่วไปนิยมนำข้อมูลจุดความร้อนนี้มาหาตำแหน่งการเกิดไฟป่ารวมทั้งติดตามสถานการณ์การลุกลามของไฟป่าในเชิงของเวลา หรือความผิดปกติของอุณหภูมิจากภูเขาไฟปะทุ รวมทั้งใช้หาแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาได้อีกด้วยครับ

   ศึกยูเครน-รัสเซียครั้งนี้ สั่นสะเทือนทั้งภาคเศรษฐกิจ และความมั่นคงทั่วโลก เราผู้น้อยก็ได้แต่จับตา ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และวางแผนรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้นะครับ
ขอเอาใจช่วยให้เกิดการเจรจาอย่างสันติ บรรลุผลโดยเร็วนะครับ

ที่มาภาพและข้อมูล:
[1] NASA's Fire Information for Resource Management System (FIRMS), part of NASA's Earth Observing System Data and Information System (EOSDIS).
[2] aircosmosinternational.com
[3] CNN, World's largest plane destroyed in Ukraine, 28 February, 2022

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Privacy Policy  and  Cookies Policy